รายละเอียดเกี่ยวกับมารยาทไทย

Image
มารยาทไทย คือ กิริยา วาจาต่างๆ เช่น การยืน การเดิน การนั่ง การนอน การรับของส่งของ การทำความเคารพ การแสดงกิริยาอาการ การรับประทานอาหาร การให้และรับบริการ การทักทาย การสนทนา การใช้คำพูด การฟัง การใช้เครื่องมือสื่อสาร รวมทั้งการประพฤติปฏิบัติในพิธีการต่างๆที่สุภาพเรียบร้อยที่บุคคลพึงปฏิบัติในสังคมโดยมีระเบียบแบบแผนอันเหมาะสมตามกาลเทศะ และถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของคนไทย
มารยาทไทย
มารยาทไทยกำหนดขึ้นไว้เป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติ ดังนี้
การแสดงความเคารพ อันเป็นมารยาทของคนไทย นิยมการประนมมือ การไหว้ และการกราบ
การประนมมือ (อัญชลีกรรม) คือ การกระพุ่มมือทั้งสองประนมให้ฝ่ามือทั้งสองประกบกันนิ้วทุกนิ้วแนบชิดติดกันไม่เหลื่อมล้ำกันหรือกางออกห่าง กระพุ่มมือที่ประนมนี้ไว้ระหว่างอกให้ตั้งตรงขึ้นข้างบนมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม แนบศอกทั้งสองข้างไว้ชิดกับชายโครง ไม่ปล่อยให้กางออกไปรักษาระดับกระพุ่มมือไว้ระหว่างอก เป็นการแสดงความเคารพเวลาสวดมนต์ หรือฟังสวดมนต์และฟังเทศน์
การไหว้ (นมัสการ) คือ การยกมือที่ประนมขึ้นจรดหน้าผาก นิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่ระหว่างคิ้วพร้อมกับก้มศีรษะลงเล็กน้อย ใช้แสดงความเคารพพระภิกษุสามเณร หรือปูชนียวัตถุปูชนียสถาน ในขณะที่ผู้ไหว้นั่งบนเก้าอี้หรือยืนอยู่ การไหว้บุคคลผู้อาวุโสกว่าให้ปล่อยมือจรดจมูกหรือคิ้ว การไหว้ผู้เสมอกันให้ประนมมือไหว้ระดับอก
การกราบ (อภิวาท) คือ การแสดงอาการกราบราบลงกับพื้นด้วยเบญจางคประดิษฐ์ คือด้วยองค์ประกอบห้าอย่าง ได้แก่ เข่าทั้งสอง ฝ่ามือทั้งสอง และศีรษะอันได้แก่ หน้าผากให้จรดกับพื้นเป็นอาการแสดงความเคารพอย่างสูงต่อ พระรัตนตรัย มีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
               ท่าเตรียมตัว นั่งคุกเข่า (ชายตามแบบชาย หญิงตามแบบหญิง) มือทั้งสองทอดวางเหนือเข่าทั้งสองให้นิ้วมือทั้งห้าแนบชิดกัน
                   –  จังหวะที่หนึ่ง ยกมือขึ้นประนมไว้ระหว่างอก ตามแบบการประนม
                   –  จังหวะที่สอง ยกมือที่ประนมขึ้นจรดหน้าผาก โดยให้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่ระหว่างคิ้วตามแบบการไหว้ พระรัตนตรัย
                   –  จังหวัะที่สาม ก้มตัวลง ปล่อยมือทั้งสองให้ทอดลงกับพื้นโดยแบมือทั้งสองให้ข้อศอกต่อกับเข่าทั้งสอง ข้าง (สำหรับชาย) และให้ศอกทั้งสองข้างขนาบเข่าทั้งสองไว้(สำหรับหญิง) ให้ระยะมือทั้งสองห่างกันประมาณ ห้านิ้ว ก้มศีรษะให้หน้าผากจรดพื้นในระหว่างมือทั้งสองแล้วยกมือประนมขึ้นผ่านจังหวะ ที่หนึ่สอง และสามไปตามลำดับให้ต่อเนื่องกันทำติดต่อกันไปจนครบสามครั้ง
               เมื่อครบสามครั้งแล้วพึงยกมือขึ้นไหว้ตามแบบพระรัตนตรัย แล้วเปลี่ยนอริยาบทเป็นนั่งพับเพียบหรือลุกขึ้นตามกาลเทศะ
             การกราบบุคคล และกราบศพ เป็นการกราบด้วยวิธีกระพุ่มมือ และกราบเพียงครั้งเดียวไม่แบมือ ดังนี้
               1)  หากบุคคลหรือศพอาวุโสกว่าให้ประนมมือไหว้ ให้ปลายนิ้วจรดจมูก หรือจรดหว่างคิ้วก็ได้ถ้าคนเสมอกันประนมมือเพียงระหว่างอก
               2)  นั่งพับเพียบเก็บเท้า ตามแบบนั่งพับเพียบ
               3)  หมอบลงตามแบบหมอบ
               4)  มือทั้งสองกระพุ่มทอดลงกับพื้นไม่แบมือ
               5)  ก้มศีรษะลงจรดสันมือ กราบเพียงครั้งเดียว
               6)  เสร็จแล้วลุกขึ้นนั่งพับเพียบตามปกติ
ศพพระสงฆ์จะกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์สามครั้งก็ได้ สำหรับนาคกราบลาบวช หรือจะกราบบิดามารดาตอนรับผ้าไตรใช้แบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง
การยืน ที่ควรทราบและถือปฏิบัติทั้งในเวลายืนตามลำพัง ยืนต่อหน้าผู้ใหญ่ และยืนแสดงความเคารพในโอกาสต่างๆ ดังนี้
1) การยืนตามลำพัง ควรอยู่ในลักษณะสุภาพ สบาย ขาชิด ตั้งตัวตรง ไม่หันหน้าหรือแกว่งแขนไปมา
2) การยืนต่อหน้าผู้ใหญ่ ควรยืนตรง ขาชิด ปลายเท้าห่างกันเล็กน้อย มือทั้งสองแนบข้างลำตัว ถ้าอยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่ที่มีอาวุโสสูงหรือพระสงฆ์ หรือเป็นการยืนหน้าที่ประทับควรค้อมส่วนบนตั้งแต่เอวขึ้นไปเล็กน้อยมืออยู่ ในลักษณะคว่ำซ้อนกัน จะเป็นมือข้างไหนทับมือข้างไหนก็ได้ หรือจะประสานมือทั้งสองอย่างหลวมๆ หงายมือทั้งสองสอดนิ้วเข้าระหว่างช่องนิ้วของแต่ละมือก็ได้
3) การยืนถวายความเคารพพระมหากษัตริย์หรือพระมเหสี ถ้าแต่งเครื่องแบบให้ยืนตรง แล้วกระทำวันทยาหัตถ์ ถ้าไม่ได้สวมหมวก ให้ยืนตรงแล้วถวายคำนับ การถวายคำนับให้ก้มศีรษะ และส่วนไหล่ลงช้า ๆ ให้ต่ำพอสมควรแล้วกลับมายืนตรง อย่าผงกศีรษะ ถ้าสวมหมวกอื่นที่มิใช่ประกอบเครื่องแบบต้องถอดหมวกก่อนแล้วจึงถวายคำนับ
สำหรับหญิง ให้ยืนตรงเท้าชิด หันหน้าไปทางพระองค์ท่าน ชักเท้าข้างใดข้างหนึ่งไปทางหลังโดยวาดปลายเท้าไปทางอีกด้านหนึ่งของเท้าที่ ยืน ทำพร้อมกับย่อเข่าอีกข้างหนึ่งลงช้าๆ เมื่อจวนจะต่ำสุดให้ยกมือทั้งสองวางประสานกันบนหน้าขาที่ย่อให้ต่ำลง โดยให้หน้ามือประสานกันและให้ค่อนไปทางเข่า ก้มศีรษะลงเล็กน้อย จากนั้นเงยศีรษะขึ้นพร้อมกับชักเท้าที่ไขว้กลับที่เดิมและตั้งเข่าตรง
4) การยืนแสดงความเคารพเมื่อมีการบรรเลงเพลงเคารพ เพลงเคารพได้แก่เพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงมหาฤกษ์ และเพลงมหาชัย
           เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมีให้ยืนขึ้นแล้วระวังตรง หันหน้าไปทางพระองค์ท่านหรือพระบรมฉายาลักษณ์หรือประธานที่ชวนเชิญถวายพระพร ในขณะนั้นให้ยืนตรงอยู่จนจบเพลง ถ้าเป็นการบรรเลงที่ปรากฏพระองค์ต้องถวายความเคารพเมื่อเห็นพระองค์ครั้งหนึ่ง
           เมื่อได้ยินเพลงชาติให้ยืนระวังตรงจนจบเพลง แล้วจึงเปลี่ยนอิริยาบถเป็นอย่างอื่นแล้วแต่กรณี
           เมื่อได้ยินเพลงมหาฤกษ์ ซึ่งใช้ในการเริ่มพิธีสำคัญๆให้ยืนขึ้นอย่างสุภาพหันหน้าไปทางประธานในพิธี เมื่อจบเพลงแล้วจึงเปลี่ยนอิริยาบถเป็นอย่างอื่นแล้วแต่กรณี
           เมื่อได้ยินเพลงมหาชัย ซึ่งใช้แสดงความเคารพต่อพระบรมวงศานุวงศ์ ควรปฏิบัติเช่นเดียวกับได้ยินเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี
5) การยืนต่อหน้าพระที่นั่ง ในเวลาที่อยู่ต่อหน้าพระที่นั่งเวลาจะลุกขึ้นยืนหรือเคลื่อนที่ไปไหน ต้องถวายความเคารพก่อนทุกครั้ง การยืนรับเสด็จเวลาเสด็จพระราชดำเนินผ่านสำหรับชายยืนตรงถวายคำนับ หญิงถอนสายบัว ถ้าแต่งเครื่องแบบและสวมหมวกให้ทำวันทยาหัตถ์
การเดิน จัดเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้ คือ การเดินตามลำพัง การเดินกับผู้ใหญ่ การเดินนำเสด็จ และตามเสด็จและการเดินไปในโอกาสต่างๆ
1) การเดินตามลำพัง ให้เดินอย่างสุภาพ หลังตรง ก้าวเท้าไม่ยาวไม่สั้นเกิน ควรแกว่งแขนแต่พองาม
2) การเดินกับผู้ใหญ่ ให้เดินทางซ้ายเยื้องมาทางหลังของผู้ใหญ่ อยู่ในลักษณะนอบน้อมไม่ส่ายตัว โยกศีรษะ ถ้าเป็นการเดินระยะใกล้ๆ มือทั้งสองควรประสานกัน
3) การเดินนำเสด็จและตามเสด็จ ควรปฏิบัติดังนี้
– การเดินนำเสด็จ ให้เดินหน้าระยะห่างพอสมควรทางด้านซ้ายของพระองค์ท่าน ในกรณีที่เสด็จพระราชดำเนินบนลาดพระบาท ผู้เดินนำเสด็จต้องไม่เดินบนลาดพระบาทให้เดินในลักษณะเอียงตัวน้อย ๆ มาทางพระองค์ท่าน เพื่อได้สังเกตทราบหากจะประทับยืนค้อมร่างกายส่วนบนเล็กน้อย มือทั้งสองประสานกัน และยกขึ้นเหนือแนวเข็มขัดเล็กน้อยเมื่อถึงที่จะอัญเชิญประทับ ซึ่งเท่ากับกราบบังคมทูล ฯ ว่าถึงที่ประทับแล้วเมื่อจะถอยออกไป ให้ถวายคำนับครั้งหนึ่ง ก่อนที่ผู้นำจะนั่งที่ ต้องถวายคำนับอีกครั้งหนึ่ง
– การเดินตามเสด็จ  ให้เดินเบื้องหลังพระองค์ท่านในอิริยาบถเดินกับผู้ใหญ่ คือเดินอย่างสุภาพหน้ามองตรง อยู่ในอาการสำรวมไม่ยิ้มหัวทักทาย หรือทำความเคารพพูดคุยกับผู้อื่น
4) การเดินเข้าสู่ที่ชุมชน ควรเดินเข้าไปอย่างสุภาพ เมื่อผ่านผู้ที่นั่งอยู่ก่อน ควรก้มตัวลงเล็กน้อยmถ้าผู้นั่งเป็นผู้อาวุโสมากก็ก้มตัวให้มาก และระวังอย่าให้เสื้อผ้าหรือร่างกายไปกรายผู้อื่น ถ้าไม่มีการกำหนดที่นั่งก็ให้นั่งเก้าอี้ที่สมควรโดยสุภาพ อย่าลากเก้าอี้ให้ดังอย่าโยกย้ายเก้าอี้ไปจากระดับที่ตั้งไว้
           การเข้าสู่ที่ชุมนุมที่นั่งกับพื้นควรเดินอย่างสุภาพ เวลาผ่านผู้ที่นั่งอยู่ก่อนควรค้อมตัวลงให้มากหรือน้อยสุดแท้แต่ระยะใกล้ หรือระยะไกล ระวังอย่าให้เสื้อผ้าหรือส่วนของร่างกายไปกรายผู้อื่นถ้าผ่านระยะใกล้มากใช้การเดินเข่า
           วิธีการเดินเข่าให้นั่งคุกเข่าตัวตรง มืออยู่ข้างลำตัวแกว่งได้เล็กน้อย ยกเข่าขวาซ้ายไปข้างหน้าสลับข้างกันปลายเท้าตั้งช่วงเท้าพองาม ไม่กระชั้นเกินไป การเดินเข่าไม่นิยมใช้ในกรณีเข้าเฝ้าหรือเข้าพบผู้ใหญ่
5) การเดินในที่ที่พระมหากษัตริย์หรือพระมเหสีประทับอยู่ เวลาเดินผ่านหน้าหรือหลังที่ประทับ ให้ลุกขึ้นจากที่แล้วถวายความเคารพ แล้วเดินอย่างสุภาพเมื่อจะผ่านที่ประทับให้หันไปถวายความเคารพ เมื่อผ่านไปแล้วให้หันไปเคารพ และก่อนจะนั่งที่ใหม่ให้ถวายความเคารพก่อนนั่ง
6) การเดินไปทำธุระใดๆ เมื่อลุกจากที่และถวายความเคารพแล้วเดินไปยังที่จะทำกิจธุระเมื่อถึงที่ให้ ถวายความเคารพแล้วจึงทำกิจธุระนั้น ขณะทำกิจธุระจะนั่งย่อเข่า หรือคุกเข่าหรือหมอบแล้วแต่กรณี ทำกิจธุระเสร็จแล้วลุกขึ้น ถอยหลังหนึ่งก้าว ถวายความเคารพแล้วเดินถอยหลังสามก้าว ถวายความเคารพ แล้วเดินกลับที่นั่ง ก่อนจะนั่งถวายความเคารพอีกครั้ง
7) การเดินขึ้นลงเมรุ ในงานศพที่เสด็จพระราชดำเนิน ควรปฏิบัติโดยลำดับ ดังนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระบรมวงศานุวงศ์ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ประชาชนทั่วไป พระภิกษุสามเณรเป็นอันดับสุดท้าย
           การปฏิบัติในการเดินขึ้นสู่เมรุให้ลุกจากที่นั่งถวายความเคารพ เมื่อผ่านที่ประทับถวายความเคารพลงจากเมรุถึงพื้นถวายความเคารพ เมื่อผ่านที่ประทับถวายความเคารพ ก่อนจะนั่งถวายความเคารพ
การนั่ง โดยคำนึงถึงมารยาทอาจจัดเป็นประเภทต่างๆได้ดังนี้ การหมอบ และการนั่งคุกเข่าในงาน และในโอกาสต่างๆ มีวิธีปฏิบัติดังนี้
1) การนั่งเก้าอี้ ให้นั่งตัวตรง หลังพิงพนักเก้าอี้ เท้าวางชิดกัน เข่าแนบชิดกัน มือทั้งสองวางบนหน้าขาถ้าเป็นเก้าอี้ท้าวแขน เมื่อนั่งตามลำพัง จะเอาแขนพาดบนท้าวแขนก็ได้ ไม่ควรนั่งเอาปลายเท้าหรือขาไขว้กันอย่างนั่งไขว่ห้างควรนั่งเต็มเก้าอี้ อย่านั่งโดยโยกเก้าอี้ให้ยกหน้าหรือเอนหลัง การนั่งลงศอกในกรณีนั่งเก้าอี้ให้น้อมตัวลงเงยหน้าเล็กน้อย วางแขนทั้งสองลงบนหน้าขามือประสานกัน
2) การนั่งพับเพียบ ให้นั่งในลักษณะสุภาพ ยืดตัว ไม่ต้องเก็บปลายเท้า แต่อย่าเหยียดเท้าถ้านั่งต่อหน้าผู้ใหญ่ให้เก็บปลายเท้า มือประสานกันไม่ท้าวแขน
3) การหมอบ ให้นั่งพับเพียบเก็บปลายเท้าก่อน แล้วหมอบลงไปให้เข่าข้างหนึ่งอยู่ระหว่างแขนทั้งสองข้างแขนวางราบกับพื้น ตลอดครึ่งแขน ส่วนมือถึงศอกประสาน หรือประณมแล้วแต่กรณี
4) การนั่งคุกเข่า ให้นั่งตัวตรง วางก้นบนส้นเท้าปลายเท้าตั้ง มือทั้งสองประสานกัน หรือจะวางคว่ำบนหน้าขาก็ได้
5) การนั่งหน้ารถพระที่นั่งหรือรถที่นั่ง ก่อนที่จะขึ้นนั่งให้ถวายความเคารพก่อน แล้วขึ้นนั่งโดยหันหลังขึ้นนั่งพร้อมกับยกขาขึ้นตามไปด้วยนั่งตัวตรง ขาชิด เข่าชิด หลังแตะพนักแต่ไม่พิง มือประสานบนตัก สำรวมอิริยาบถแต่ให้ผึ่งผาย ไม่เหลียวหน้าไปทางใด
6) การนั่งขัดสมาธิ (สะหมาด) คือการนั่งตามสบายอย่างหนึ่งและการนั่งแบบทำสมาธิ
การนั่งขัดสมาธิธรรมดา คือ การนั่งบนพื้น คู้เข่าทังสองข้างหาตัว แนบขาลงกับพื้น โดยให้ขาข้างหนึ่งช้อนทับอยู่บนอีกข้างหนึ่ง ส้นเท้าทั้งสองข้างจะสัมผัสกับขา เป็นอิริยาบถที่ใช้นั่งตามลำพังสบายๆ หรือ สำหรับชายนั่งกับพื้นรับประทานอาหาร
การนั่งขัดสมาธิที่ใช้ในทางศาสนา มี 2 แบบ คือ การนั่งขัดสมาธิราบ และการนั่งขัดสมาธิเพชร
การนั่งขัดสมาธิราบ คือ การนั่งขัดสมาธิสองชั้น โดยเอาขาซ้อนทับกัน เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วหัวแม่มือจรดกัน ตั้งกายส่วนบนให้ตรง การนั่งขัดสมาธิราบนี้ใช้นั่งในการเจริญภาวนาทำจิตใจให้สงบ ซึ่งเป็นการปฏิบัติกรรมฐานเมื่อนั่งแบบนี้จะมีผลให้เนื้อหนังและเอ็นไม่ขด แม้นั่งนานทุกขเวทนาก็จะไม่บังเกิดขึ้น การบำเพ็ญภาวนาทางจิตใจจะได้ผล
การนั่งขัดสมาธิเพชร คือ การนั่งขัดสมาธิโดยคู้เข่าทั้งสองข้าง เอาฝ่าเท้าทั้งสองขัดหรือไขว้ขึ้นวางบนหน้าขา ท่านั่งขัดสมาธิแบบนี้ต้องใช้การฝึกหัดให้เกิดความชำนาญ โดยการหัดนั่งขัดสมาธิราบ หรือขัดสมาธิสองชั้นได้ชำนาญแล้ว
การนอน เป็นเรื่องส่วนตัวไม่น่าเกี่ยวข้องอะไรกับมารยาทหรือสังคม แต่บางกรณีในการเดินทางและนอนพักรวมกันเป็นกลุ่ม หรือการนอนที่อาจมีผู้เห็นอาการอันไม่ดีงามก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับมารยาทอยู่เหมือนกัน การนอนโดยคำนึงถึงมารยาทด้วยนั้น อาจจำแนกได้ดังนี้ การนอนในที่เฉพาะส่วนตัว การนอนเมื่อไปพักบ้านผู้อื่น การนอนในยานพาหนะขณะเดินทาง และการนอนเมื่อไปพักแรมเป็นหมู่คณะ
1) การนอนในที่เฉพาะส่วนตัว เมื่อนอนในที่เฉพาะส่วนตัว คนเราจะนอนอย่างไรก็ได้ตามความพอใจ แต่ก็ควรคำนึงถึงมารยาทและเรื่องต่างๆบ้าง เช่น
1.1 ใช้เสื้อผ้าหรือชุดนอนที่สวมสบาย ไม่ประเจิดประเจ้อ
1.2 ก่อนนอนควรไหว้พระสวดมนต์หรือแผ่เมตตา เพื่อให้นอนหลับอย่างมีสติและมีความสวัสดี ไม่ควรนอนเหยียดเท้าไปทางพระพุทธรูป หรือสิ่งที่พึงเคารพบูชา
1.3 นอนในท่าที่ถูกสุขลักษณะ เช่น นอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าให้เหลื่อมกันเล็กน้อย เหยียดแขนและขาให้สบายตามธรรมชาติ การนอนท่านี้ช่วยไม่ให้นอนทับหัวใจ การนอนหงายก็ถือเป็นท่าที่ถูกสุขลักษณะเช่นกัน
1.4 นอนให้เรียบร้อยตามสมควร ซึ่งรวมไปถึงการนอนอย่างสงบสำรวม ระวังการนอนกัดฟัน และละเมอ เป็นต้น
1.5 ไม่ควรทำความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อยู่ห้องใกล้เคียง หรือบ้านใกล้เคียง เช่น ทำเสียงดังเกินควรในยามวิกาล
1.6 เมื่อตื่นนอนแล้ว ควรจัดเก็บเครื่องนอนให้เรียบร้อย และควรทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่หงุดหงิด
2) การนอนเมื่อไปพักบ้านผู้อื่น ในกรณีที่ไปพักบ้านผู้อื่น หรือเพื่อนที่คุ้นเคยกัน แม้จะสนิทสนมกันก็ควรคำนึงถึงมารยาทที่พึงปฏิบัติอยู่บ้าง ผู้ไปพักบ้านผู้อื่นควรปฏิบัติเช่นเดียวกับการนอนในที่เฉพาะส่วนตัว แต่ควรเน้นเป็นพิเศษในเรื่องต่างๆ ดังนี้
2.1 ไม่ควรไปค้างบ้านผู้อื่นในยามดึกหรือกลับดึกโดยไม่มีเหตุอันจำเป็น เพราะเจ้าของบ้านจะเดือดร้อนในการเปิดประตูต้นรับ หรือให้ความสะดวกต่างๆ
2.2 ควรมีความเกรงใจ คำนึงถึงความต้องการของเจ้าของบ้าน ไม่ถือแต่ประโยชน์สุขส่วนตัว และไม่เรียกร้องขอความสะดวกสบายจากเจ้าของบ้านจนเกินควร เช่น ใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมนานเกินไป ขอใช้บริการเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งในบ้านมีจำนวนจำกัด
2.3 ไม่ทำสิ่งใดอันจะเป็นการรบกวน หรือก่อความรำคาญให้แก่กันและกัน เช่น ทำเสียงดังเป็นเหตุให้เจ้าของบ้านตกใจตื่น ชวนคุยโดยไม่คำนึงว่าอีกฝ่ายหนึ่งต้องการจะพักผ่อน
2.4 ควรขออนุญาตเจ้าของบ้านก่อนที่จะทำสิ่งใดอันเกี่ยวข้องกับเจ้าของบ้าน เช่น ขอพูดโทรศัพท์ ขอใช้รถ ฯลฯ
2.5 ควรช่วยรักษาความสะอาดตามสมควร ซึ่งถือเป็นมารยาทอันดี
**ผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านก็ควรอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาพักและมีความเกรงใจไม่ทำ สิ่งใดอันอาจก่อความรำคาญและรบกวนผู้มาพักเช่นกัน
3) การนอนในยานพาหนะขณะเดินทาง ผู้เดินทางระยะไกล และต้องค้างคืนในยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารปรับอากาศ รถไฟ ฯลฯ จำเป็นต้องคำนึกถึงมารยาทที่พึงปฏิบัติบางประการ เช่น
3.1 แต่งกายสุภาพ ไม่ปล่อยตัวตามสบายอย่างที่เคยปฏิบัติเมื่ออยู่ในบ้านของตน
3.2 ไม่ส่งเสียงคุยเอะอะ อันจะทำให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ที่ต้องการพักผ่อน
3.3 ไม่สูบบุหรี่ ไม่ก่อความรำคาญ หรือชวนพูดคุยโดยไม่คำนึงว่าเป็นเวลาอันเหมาะสมหรือไม่
3.4 ไม่ใช้ที่นั่งหรือที่นอนเกินสิทธิที่ตนพึงมีได้
3.5 หากประสงค์จะให้พนักงานบริการสิ่งใดเป็นพิเศษ ควรขอร้องอย่างสุภาพ
3.6 ในกรณีที่เดินทางโดยรถโดยสารปรับอากาศ ซึ่งสามารถปรับที่นั่งให้เอนนอนได้ควรหรับที่นั่งในเวลาอันควร โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้นั่งข้างเคียงด้วย เพราะอาจทำให้เขามิได้รับความสะดวก
3.7 ในกรณีที่ค้างคืนในรถไฟ ซึ่งจัดให้มีที่นอนในรถ ควรปฏิบัติเป็นพิเศษในเรื่องต่อไปนี้
  • ควรรอให้พนักงานปูที่นอนทำงานของเขาตามลำดับก่อนหลังไม่เรียกร้อง ให้บริการตนเป็นพิเศษ
  • ผู้ที่ขึ้นไปนอนชั้นบน ควรกล่าวคำขออภัยด้วยมารยาทอันดีต่อผู้นอนชั้นล่าง และถ้าไม่มีกิจจำเป็นก็ไม่ควรปีนขึ้นปีนลงบ่อยครั้ง
  • แม้จะมีม่านบังที่นอนไว้ ก็ควรนอนอย่างสงบเรียบร้อย
4) การนอนเมื่อไปพักแรมเป็นหมู่คณะ ในกรณีที่ไปพักแรมเป็นหมู่คณะ ที่พักอาจเป็นห้องโถงที่จัดไว้สำหรับคนจำนวนมาก ผู้พักอาศัยควรคำนึงถึงมารยาทที่พึงปฏิบัติระหว่างกันให้มากขึ้น เช่น
4.1 ไม่แสวงหาความสะดวกสบายส่วนตัวจนลืมนึกถึงผู้อื่น
4.2 ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่ผู้อื่นที่มาทีหลัง ในการจัดหาเครื่องใช้ในการนอนเป็นการแสดงน้ำใจต่อกันในยามจำเป็น
4.3 ไม่ส่งเสียงคุยเอะอะหรือเดินเสียงดัง เป็นการก่อความรำคาญแก่ผู้ที่ต้องการพักผ่อน
4.4 เมื่อมีผู้เจ็บป่วยต้องการความช่วยเหลือ ควรรีบช่วยด้วยความเต็มใจ เช่น แจ้งผู้ดูแลที่พักเพื่อให้การปฐมพยาบาลทันท่วงที
4.5 ไม่เรียกร้องความสะดวกสบายเกินสิทธิที่แต่ละคนพึงมีพึงได้
4.6 แสดงความขอบคุณผู้ให้ที่พักก่อนอำลาจากกันด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี
4.7 ปฏิบัติตามระเบียบของเจ้าของสถานที่
การรับของและส่งของ การรับของจากผู้ใหญ่และการส่งของให้ผู้ใหญ่ของที่จะรับหรือส่ง มี 2 ลักษณะคือ ของหนักและของเบา ของหนักให้ถือสองมือ ของเบาให้ถือมือเดียว โดยถือด้วยมือขวา มือซ้ายปล่อยข้างตัวของที่จะรับหรือส่งควรถือตามขวาง ถ้าเป็นสมุดหรือหนังสือควรหันทางสันออกนอกตัว
1) การรับของและส่งของอย่างเป็นพิธีการ คำว่าพิธีการในที่นี้คือ การกระทำที่เป็นพิธี มีการกำหนดนัดหมาย และมีระเบียบปฏิบัติซึ่งอาจไม่เหมือนกับวิธีปฏิบัติที่เป็นส่วนตัว
  • การรับของขณะผู้ใหญ่ยืน ผู้ชายเดินเข้าไปห่างจากผู้ใหญ่พอสมควร (ประมาณ 2 ก้าว) ยืนตรงคำนับแล้วก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าพร้อมกับค้อมตัวเล็กน้อย รับของ เสร็จแล้วซักเท้าขวากลับ คำนับอีกครั้งหนึ่ง ถอยพอประมาณแล้วหันกลับ อีกแบบหนึ่งยืนไหว้ครั้งเดียว แทนการคำนับก่อน รับของแล้วไม่ต้องไหว้อีก ผู้หญิงเดินเข้าไปห่างจากผู้ใหญ่พอสมควร (ประมาณ 3 ก้าว) ย่อตัวไหว้ตามอาวุโสของผู้ส่งของให้ แล้วก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าพร้อมกับย่อตัวรับของ เสร็จแล้วซักเท้าขวากลับถอยพอประมาณ หันกลับ
  • การรับของขณะผู้ใหญ่นั่งเก้าอี้ ผู้ชายเดินเข้าไปห่างจากผู้ใหญ่พอสมควร ยืนตรง คำนับก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า แล้วคุกเข่าซ้าย รับของ เสร็จแล้วถอยเท้าขวา พร้อมกับลุกขึ้นยืนตรง คำนับอีกครั้งหนึ่งถอยพอประมาณ หันกลับอีกแบบหนึ่ง ถอยพอประมาณหันกลับอีกแบบหนึ่ง ค้อมตัวไหว้ครั้งเดียวแทนการคำนับก่อนรับของ ผู้หญิงเดินเข้าไปห่างจากผู้ใหญ่พอสมควร ยืนตรง ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าแล้ว คุกเข่าซ้าย และไหว้ตามอาวุโสของผู้ส่งของให้รับของแล้วถอยเท้าขวา พร้อมกับลุกขึ้นยืนถอยพอประมาณ หันกลับ
  • การรับของขณะผู้ใหญ่นั่งกับพื้น ชายและหญิงปฏิบัติเหมือนกัน ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่มีพระคุณหรืออาวุโสมาก ให้เข้าไปใกล้ผู้ใหญ่พอประมาณ แล้วจึงเดินเข่าเข้าไปห่างจากผู้ใหญ่ประมาณ 3 ก้าว นั่งพับเพียบกราบผู้ใหญ่ 1 ครั้ง แล้วรับของ วางของทางขวามือเหนือเข่าเล็กน้อย ถ้าผู้ใหญ่ปราศรัยด้วยก็ให้นั่งในลักษณะสำรวมเสร็จแล้วกราบอีก 1 ครั้ง ถือของเดินเข่าถอยพอประมาณลุกขึ้นหันหลับ
2) การส่งของ มีการกำหนดนัดหมาย และมีระเบียบปฏิบัติซึ่งอาจไม่เหมือนกับวิธีปฏิบัติที่เป็นส่วนตัว ดังนี้
  • การส่งของขณะผู้ใหญ่ยืน ผู้ชาย ถือของเดินเข้าไปห่างจากผู้ใหญ่พอสมควร ยืนตรงคำนับ แล้วก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า พร้อมกับค้อมตัวเล็กน้อย ส่งของเสร็จแล้ว ชักเท้าขวากลับ คำนับอีกครั้งหนึ่ง ถอยพอประมาณ หันกลับ อีกแบบหนึ่ง ใช้การยืนไหว้ ครั้งเดียวแทนการคำนับเมื่อส่งของให้ผู้ใหญ่แล้ว ผู้หญิง ถือของเดินเข้าไปห่างจากผู้ใหญ่พอสมควรยืนตรง แล้วก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า พร้อมกับย่อตัวเล็กน้อย ส่งของเสร็จแล้วไหว้ในขณะที่ย่อตัวอยู่ แล้วซักเท้าขวากลับถอยพอประมาณ หันกลับ
    ** ในกรณีที่มีภาชนะรองรับของ เช่น พาน ให้จับคอพานทั้งสองมือ เดินเข้าไปให้ได้ระยะพอสมควร ค้อมตัว ยกพานส่งของให้ เมื่อผู้ใหญ่รับของไปแล้วถือพานด้วยมือขวา ชายคำนับ แล้วถอยกลับ หญิงค้อมตัวเล็กน้อย ถอยกลับ
  • การส่งของขณะผู้ใหญ่นั่งเก้าอี้ ผู้ชาย ถือของเดินเข้าไปห่างจากผู้ใหญ่พอสมควร ยืนตรงคำนับ ก้าวเท้าขวาไป ข้างหน้าแล้วคุกเข่าซ้ายส่งของเสร็จแล้วถอยเท้าขวากลับพร้อมกับลุกขึ้นยืน ตรง คำนับอีกครั้งหนึ่ง ถอยพอประมาณ หันกลับ อีกแบบหนึ่ง ใช้การค้อมตัวไหว้ครั้งเดียวแทนการคำนับเมื่อส่งของให้ผู้ใหญ่แล้ว ผู้หญิง ถือของเดินเข้าไปห่างจากผู้ใหญ่พอสมควร ยืนตรง ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า แล้วคุกเข่าซ้ายส่งของ เสร็จแล้วไหว้ตามอาวุโสของผู้รับ แล้วถอยเท้าขวาพร้อมกับลุกขึ้นยืนถอยพอประมาณหันกลับ
  • การส่งของขณะผู้ใหญ่นั่งกับพื้น ชายและหญิงปฏิบัติเหมือนกัน ถ้าเป็นผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณหรือผู้มีอาวุโสมากให้ผู้ที่เข้าไปส่งของเดินเข่า ถือของเข้าไป ห่างจากผู้ใหญ่พอประมาณนั่งพับเพียบวางของทางขวามือเหนือเข่าเล็กน้อย แล้วกราบผู้ใหญ่ 1 ครั้ง ส่งของให้ผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่ปราศรัยด้วยก็ให้นั่งลักษณะสำรวม เมื่อจะลากลับกราบอีก 1 ครั้ง ถอยโดยวิธีเดินเข่า ห่างจากผู้ใหญ่พอประมาณลุกขึ้นยืน หันกลับ
3) การรับของและส่งของอย่างไม่เป็นพิธีการ การรับของและส่งของอย่างไม่เป็นพิธีการนั้น หมายถึง การรับของ และส่งของเป็นการส่วนตัวขณะที่ผู้ใหญ่ยืนอยู่หรือนั่งบนเก้าอี้รับแขก หรือนั่งบนพื้นในบ้าน ทั้งชายและหญิงควรปฏิบัติด้วยอาการนอบน้อมด้วยการทำความเคารพคือ เมื่อจะรับของก็ไหว้ท่านแล้วจึงรับ เมื่อจะส่งของให้ท่านก็ส่งของก่อนแล้วจึงไหว้ ทั้งนี้พึงปฏิบัติให้เหมาะสมตามกรณี เมื่อจะลาท่านก็ให้ไหว้อีกครั้งหนึ่ง
หมายเหตุ : การรับของหรือการส่งของเมื่อผู้ใหญ่นั่งกับพื้น ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่อาวุโสไม่มาก เช่น พี่ น้า อา เป็นต้น ให้ใช้วิธีการนั่งพับเพียบไหว้ การเข้าและออกให้ใช้วิธีเดินเข่า
4) การทูลเกล้าฯ ถวายของและการรับพระราชทานของ
  • การทูลเกล้าฯ ถวายของ พัสดุหรือสิ่งของที่ยกถือเชิญอันเป็นของเบา เรียกว่า ทูลเกล้าถวาย ผู้เข้าเฝ้าฯ ชายหรือหญิงเมื่อจะทูลเกล้าฯ ถวายในขณะประทับพระราชอาสน์ พระเก้าอี้ หรือประทับยืนจะต้องมีภาชนะ เช่น พานรองรับสิ่งของนั้น ผู้ถวายควรถือคอพานประคอง 2 มือ ก่อนจะเข้าไปเฝ้าฯ ถวาย ต้องทำความเคารพตามเพศ (คำนับ – ถอนสายบัว) เมื่อจะถึงที่ประทับห่างพอประมาณ ถวายความเคารพตามเพศ (คำนับ – ถอนสายบัว) แล้วย่อตัวลง โดยก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า เข่าซ้ายลงจรดพื้นแล้วยกพานภาชนะที่รองรับสิ่งของนั้น ๆ ทูลเกล้า ฯ ถวายเมื่อทรงหยิบของในพานแล้ว ให้ลุกขึ้นถือภาชนะหรือพานลดต่ำพร้อมกับถอยเท้าขวากลับ ถวายความเคารพแล้วเดินถอยหลังไป 3-4 ก้าว ถวายความเคารพแล้วลับไปยืนหรือนั่งเฝ้าฯ ที่เดิม ส่วนพัสดุ สิ่งของ หรือสิ่งใดก็ตามที่ยกถือเชิญไม่ได้เพราะเป็นของหนักหรือสิ่งมีชีวิตเรียกว่า น้อมเกล้าฯ ถวาย การน้อมเกล้าฯ ถวายสิ่งของที่จะยกเชิญไม่ได้ เพราะเป็นของหนักหรือสิ่งมีชีวิต ส่วนมากจะทำเป็นเอกสาร
  • การรับพระราชทานสิ่งของ ผู้รับจะต้องใช้มือขวาโดยวิธีการ “เอางาน” คือ ยกมือไม่กางข้อศอก มือตั้ง ยกข้อมือขึ้น 1 ครั้ง แล้วหงายมือรับพระราชทานของ ถ้ารับพระราชทานของที่เป็นของเบาให้รับมือเดียว แต่ถ้าเป็นของหนักให้ยกมือขวาเอางานก่อน แล้วจึงรีบยกมือซ้ายขึ้นมาช่วยรับ ผู้ชาย เดินเข้าไปห่างพอประมาณ ถวายความเคารพ (ถวายคำนับ) ย่อตัวลงโดยก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า คุกเข่าซ้าย ยกมือขวาเอางานแล้วรับพระราชทานของ เสร็จแล้วถอนเท้าขวาพร้อมกับลุกขึ้นยืนตรง ถวายความเคารพ ถอยหลังออก ผู้หญิง เดินเข้าไปห่างพอประมาณ ถวายความเคารพ (ถอนสายบัวแบบพระราชนิยม) แล้วยืนตรง ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า คุกเข่าซ้าย ยกมือขวาเอางาน แล้วรับพระราชทานของ เสร็จแล้วถอยเท้าขวาพร้อมกับลุกขึ้นยืนถวายความเคารพ ถอยหลังออก
5) การประเคนของแด่พระสงฆ์และการรับของจากพระสงฆ์
  • การประเคนของแด่พระสงฆ์ หมายถึง การถวายของโดยส่งให้ตามวิธีการทางพระวินัย การประเคนของแด่พระสงฆ์ ถ้าเป็นของที่พอยกได้ใช้ 2 มือยกแล้วประเคนในระยะหัตถบาส ถ้าเป็นของใหญ่เกินกว่าที่จะยกได้ เช่น เรือ รถ หรือกุฎีก็ไม่ต้องยกเพียบกล่าวคำถวายหรือถวายเอกสารประกอบสิ่งของนั้นก็พอ แล้ว วิธีการประเคนของ ชายและหญิงปฏิบัติดังนี้ คือ ถ้าพระสงฆ์นั่งกับพื้นถือของเดินเข่าเข้าไปได้ระยะหัตถบาส แล้วยกของขึ้นประเคน ผู้ชายจะประเคนของแด่พระสงฆ์ในลักษณะมือต่อมือได้เลย ผู้หญิงจะต้องวางบนผ้าที่พระสงฆ์ทอดออกมา จะไหว้หรือกราบแล้วแต่กาลเทศะ ถอยโดยวิธีเดินเข่า เมื่อห่างพอประมาณค่อยลุขึ้นหันตัวกลับ ในกรณีพระสงฆ์นั่งบนเก้าอี้หรืออาสน์สงฆ์ไม่ต้องเดินเข่า แต่เข้าไปให้ได้ระยะหัตถบาส และประเคนตามวิธีดังกล่าวข้างต้น ถ้ามีของถวายหลายอย่าง ควรประเคนทีละอย่าง แต่ถ้ามีถาดหรือภาชนะใส่ไว้แล้วก็ประเคนทั้งถาดหรือภาชนะได้ แต่ไม่ควรยกโต๊ะอาหารประเคนทั้งโต๊ะ เพราะเป็นของใหญ่หรือหนักเกินประมาณ ซึ่งผิดพระวินัย (คำว่า หัตถบาส แปลว่า “บ่วงมือ” หมายถึง ระยะระหว่างผู้รับประเคนและผู้ถวายไม่เกิน 1 ศอก)
  • การรับของจากพระสงฆ์ ชายและหญิงปฏิบัติดังนี้คือ ก่อนรับของให้เข้าไปใกล้ในระยะพอสมควร แล้วแสดงความเคารพจะกราบหรือไหว้สุดแต่กาละ ของเบา ชายยื่นมือขวารับ ของหนัก ยื่นสองมือรับแล้วถอยกลับ ส่วนหญิง พระจะวางของไว้ตรงหน้า ของเบาให้เอื้อมมือขวาไปหยิบด้วยอาการนอบน้อม สำรวม ของหนักให้ยกทั้งสองมือแล้วถอยกลับ
การแสดงกิริยาอาการ คือ ส่วนต่างๆของร่างกายที่แสดงกิริยาอาการให้มีผลต่อการสื่อความหมายที่สำคัญๆ มีศรีษะ ดวงตา หน้า ไหล่ แขน มือ นิ้ว ลำตัว ขา มีหลักกว้าๆ พอจะบอกได้ว่ากิริยาอาการเป็นปัจจัยช่วยสื่อความหมายให้สัมฤทธิผลหรือเป็นอุปสรรคต่อการสื่อความหมาย 
  • การทรงตัว การทรงตัวที่ดีต้องอยู่ในอาการสุมดุล ไม่ฝืนธรรมชาติขณะที่ยืนควรปล่อยน้ำหนักให้ตกลงบนขาทั้ง 2 ข้างเท่าๆกัน ในท่านั่งพูดไม่ควรปล่อยให้น้ำหนักตัวตกอยู่ที่กลางหลัง เพราท่านี้จะไม่ช่วยให้ทรวงอกขยายตัวได้สะดวกในขณะที่เปล่งเสียงพูด แขนช่วงบนต้องไม่กดชิดลำตัวตลอดเวลา เพราะท่านี้จะทำให้ทรวงอกอึดอัดโดยไม่รู้ตัว ท่านั่งตามปกติที่ช่วยให้ทรงตัวดีที่สุดคือ นั่งลำตัวตรง ถ้ามีโต๊ะอยู่ด้านหน้าควรวางข้อศอกไว้บนโต๊ะ อาจโน้มตัวไปข้างหน้าได้เล็กน้อย
  • จังหวะในการแสดงกิริยาอาการ การแสดงกิริยาอาการไม่ว่าจะโดยอาการใช้มือ แขน ศรีษะ การแสดงออกทางสีหน้าและแววตา และการเคลื่อนไหวลำตัว จะช่วยเน้นคำพูดหรือเสริมคำพูดให้เป็นที่เข้าใจแจ่มชัดขึ้น ควรจะแสดงออกในทันทีทันใดก่อนเปล่งคำพูด แต่อย่าเกินงามควรแสดงออกแต่พอดี ไม่ควรเล่นหูเล่นตา หรือ หยอกล้อผู้ใหญ่จนเกินงาม มีความสุภาพอ่อนโยนงดงาม
การรับประทานอาหาร การรับประทานอาหารในงานใดๆก็ตาม ถือเป็นมารยาทที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องและพึงระมัดระวัง เพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง และเสริมบุคลิกภาพ การร่วมรับประทานอาหารในงานเลี้ยงควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
  • การรับประทานอาหารแบบตั้งโต๊ะ ซึ่งมี 2 แบบ คือ เลี้ยงแบบอาหารไทยที่มีอาหารตั้งบนโต๊ะเอาไว้เรียบร้อยแล้ว และแบบที่ค่อยๆ ทยอยเสิร์ฟจนหมด เช่น อาหารจีน หรืออาหารฝรั่ง ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
    1. ถ้าไปในงานไม่ได้ ก็ควรแจ้งให้เจ้าภาพทราบล่วงหน้า เพื่อเจ้าภาพจะได้รู้จำนวนแขกที่มาในงาน แต่โดยทั่วไปควรจะบอกก่อนวันงานไม่ว่าจะไปได้หรือไม่ก็ตาม
    2. ตระเตรียมเครื่องแต่งตัวไปในงานให้พร้อม
    3. ควรจะไปก่อนงานเริ่มสัก ๑๐ นาที ไม่ควรไปเร็วหรือช้ากว่านั้น เพราะจะทำให้เจ้าภาพลำบากใจ
    4. ควรทักทายพบปะกับเจ้าภาพเมื่อไปถึงในงาน แม้เจ้าภาพจะยุ่งอยู่กับการต้อนรับคนอื่น เราก็ควรหาโอกาสไปทักทายในภายหลัง
    5. ควรพยามยามพูดคุยทักทายกับแขกคนอื่น ๆ ที่มาในงาน แม้ไม่ใช่เพื่อนของเรา ถ้าถูกแนะนำให้รู้จักกับใคร ก็ควรจะพูดคุยกับคนนั้นหากไม่มีใครแนะนำก็ควรพูดคุยกับคนใกล้เราที่สุด
    6. เวลาที่นั่งโต๊ะ ควรให้แขกผู้ใหญ่นั่งก่อน แล้วเราค่อยนั่งตาม สามี ภรรยา ไม่ควรนั่งโต๊ะติดกัน
    7. เวลาเดินเข้าประจำโต๊ะ สุภาพบุรุษควรช่วยเหลือสุภาพสตรีที่นั่งข้าง ๆ ให้นั่งก่อนโดยการยกเก้าอี้เลื่อนให้เล็กน้อย สุภาพสตรีนั่งแล้วสุภาพบุรุษจึงค่อยนั่งตาม โดยสุภาพสตรีต้องนั่งทางขวาของสุภาพบุรุษ
    8. ก่อนนั่งโต๊ะควรงดสูบบุหรี่ แม้นั่งโต๊ะเรียบร้อยแล้วก็ไม่ควรสูบ เพราะมีสุภาพสตรีนั่งอยู่ข้างๆ
    9.  นั่งโต๊ะต้องนั่งตัวตรง อย่านั่งพิงเก้าอี้ เอนหลัง หรือค่อมหลังจนตัวงอ อย่านั่งชิด หรือห่างจากเก้าอี้ หรือเอาเท้าวางบนเก้าอี้ เอาศอกวางบนโต๊ะ
    10. อย่าอ่านหนังสือใด ๆ บนโต๊ะอาหารนอกจากรายการอาหาร
    11. ผ้าเช็ดมือคลี่วางบนตัก
    12. อย่าเล่นช้อน ส้อมหรือผ้าเช็ดมือ
    13. อย่ากางข้อศอกในเวลารับประทานอาหาร ศอกต้องแนบตัว
    14. ถ้ามีสิ่งใดตก ไม่ต้องเก็บ ควรแจ้งให้คนเสริฟทราบ
    15. เวลานั่งโต๊ะ คอยสังเกตให้ดีว่าอันไหนเป็นของเรา หรือเป็นของคนอื่น อย่าหยิบผิด
    16. เวลารับประทานอาหารอย่าจับหรือแต่งผม แต่งหน้า ทาปาก
    17. ช่วยเหลือเพื่อนร่วมโต๊ะตามสมควร
    18. อย่าเอื้อมหยิบของผ่านหน้าผู้อื่น แต่ถ้าเพื่อนร่วมโต๊ะส่งให้ ก็ควรขอบคุณในไมตรีจิตของเขา
    19. อย่าทำอะไรตกจากโต๊ะอาหาร แต่ถ้าตกแล้วก็ขอใหม่ อย่าเก็บของเก่า
    20. หากทำอะไรผิดก็ปล่อยเลยตามเลย ไม่ต้องแก้ตัว
    21. ดื่มน้ำด้วยมือขวา
    22. อย่าจิ้มฟันในขณะรับประทานอาหาร ถ้าจำเป็นควรใช้มือป้อง
    23. รับประทานอาหารเสร็จควรรวบช้อนส้อมไว้คู่กัน เขาจะได้รู้ว่าอิ่มแล้ว
    24. ลุกจากโต๊ะเมื่อคนอื่นๆ อิ่มแล้ว
  • การรับประทานอาหารแบบตักเอง หรือที่เรียกว่าบุฟเฟ่ห์ ควรปฏิบัติดังนี้
    1. ไม่ควรตักก่อนที่เจ้าภาพจะเชิญ
    2. ไม่ควรตักอาหารจนล้นชามแล้วรับประทานไม่หมด
    3. ไม่ควรตักของหวานหรือผลไม้เกินกว่าที่ตนจะรับประทานได้
    4. เมื่อต้องการอาหารเพิ่มเติม ต้องใช้ช้อนกลาง ไม่ควรใช้ช้อนของตนตักอาหาร
    5. เมื่อตนตักอาหารชนิดใดแล้ว ต้องให้โอกาสคนอื่นเข้าได้ตักบ้าง ไม่ควรยืนปักหลักอยู่ที่โต๊ะ
    6. ไม่ควรลุกไปตักอาหารพร่ำเพรื่อจนเกินควร
    7. รับประทานอาหารที่ตักมาให้หมด ไม่ควรเหลือทิ้งไว้บนจานมาก
    8. เมื่อรับประทานอาหารเสร็จควรรวบช้อนส้อมเข้าคู่ด้วยกัน
    9. เมื่อจะกลับควรลาเจ้าภาพและกล่าวคำขอบคุณ
การให้และรับบริการ
การทักทาย นอกจากการไหว้กันและกันแล้วการพูดจา และการปฏิบัติตัวอย่างสุภาพก็ถือเป็นการทักทายอีกอย่างหนึ่ง เช่น ถ้าหากคุณเป็นแขกไปเยี่ยมสำนักงานอื่น ควรปฏิบัติตัวอย่างสุภาพเช่นเดียวกับคุณไปเยี่ยมเยือนบ้านเพื่อนหรือใน ทางกลับกันเมื่อคุณต้องต้อนรับผู้อื่นในออฟฟิศตนเอง ควรทำด้วยความมีอัธยาศัยเหมือนกับเป็นเจ้าของบ้านนั่นก็คือ ต้องแต่งตัวอย่างเหมาะสม ตรงเวลา และสุภาพ
1. เมื่อคุณเป็นแขก
ต้องตรงต่อเวลาทุกครั้ง (ในกรณีฉุกเฉินต้องโทรศัพท์ แจ้งผู้ที่เรานัดให้ทราบล่วงหน้า) ตามปกติ คนทำงานมักมีนัดหมายอื่นๆอีก ดังนั้น ย่อมต้องการเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เมื่อไปถึงสถานที่ให้แสดงนามบัตร พร้อมแนะนำตัว ชื่อ และบริษัทที่ทำงานแก่พนักงานต้อนรับด้านหน้าพร้อมกับแจ้งความประสงค์ ถ้าหากผู้ที่ต้องการพบยังไม่ว่าง และพนักงานต้อนรับเชื้อเชิญคุณนั่งคุณอาจวางกระเป๋าเอกสารไว้บนพื้นหรือบน ตัก แล้วอ่านหนังสือหรือจดโน๊ตรอก็ได้ ข้อสำคัญ จงอย่าไปยุ่มย่ามกับงานของพนักงานต้อนรับ หรือหยิบเอกสารผู้อื่นมาดู เมื่อได้เข้าไปพบกับบุคคลเป้าหมายแล้ว อย่าลืมทักทายด้วยการกล่าว “สวัสดี” ก่อน พร้อมทั้งแนะนำตัวด้วย ถ้าหากว่าพนักงานต้อนรับสักครู่ไม่ได้แนะนำไว้ ในกรณีกลับกัน หากคุณมีแขกมาเยือนถึงที่ทำงาน และมีโทรศัพท์ถึงคุณ คุณน่าจะต่อโทรศัพท์กลับทีหลังดีกว่า ทว่าถ้าเป็นเรื่องสำคัญ ก็ขอโทษและรีบสรุปการเจรจาโดยเร็ว เช่นเดียวกับเวลาที่คุณไปพบคนอื่นแล้วมีโทรศัพท์เข้าคุณควรเสนอตัวออกไปรอ ข้างนอกชั่วขณะ การเข้าพบใดๆ ไม่ควรอยู่นาน และขากลับอย่าลืมขอบคุณพนักงานต้อนรับด้วย
2. เมื่อคุณเป็นผู้ที่แขกต้องการพบ
ไม่ควรปล่อยให้เขารอนานเกินความจำเป็น แนะนำตนเองในกรณีที่เขายังไม่รู้จัก หรือหากคุณยังไม่พร้อมที่จะให้เข้าพบก็ควรเชิญไปที่ห้องรับแขก ซึ่งเพียบพร้อมด้วยหนังสือพิมพ์ วารสาร และที่เขี่ยบุหรี่ตามห้องรับแขกใหญ่ๆ ในต่างประเทศ จะไม่มีการเสิร์ฟเครื่องดื่ม ยกเว้นแต่จะมีเครื่องชงกาแฟ ทว่าในเมืองไทยผู้ที่มาเยือนมักได้รับการเสนอว่าต้องการเครื่องดื่มอะไร ชา กาแฟ หรือน้ำเย็น ผู้ทำหน้าที่เป็นเลขาฯหรือมีหน้าที่ในการคัดเลือกบุคคลภายนอกที่ต้องการพบ พนักงานระดับสูงในบริษัทนั้นบางทีอาจพบว่าแขกที่มาไม่ได้เปิดเผยตนเอง ก็จงถามชื่อและประเภทธุรกิจของเขา หรือในกรณีที่เจ้านายยังวุ่นอยู่กับงานก็ควรนัดหมายเสียใหม่จะเหมาะสมกว่า หากเจ้านายไม่อยากพบหน้า คุณต้องหาวิธีหลีกเลี่ยงอย่างมิให้เสียน้ำใจต่อผู้มาเยือนและภาพพจน์ของเจ้า นาย เช่น คุณอาจแจ้งต่อเขาว่า ช่วงนี้เจ้านายคุณคิวเต็มเหยียด ทั้งเรื่องงานและกำหนดนัดหมายอื่นๆ ในกรณีที่แขกมาเยือนเยิ่นเย้อ จะมีผลกระทบต่อนัดหมายอื่นหรืองานประจำ เลขานุการ หรือพนักงานต้อนรับควรเคาะประตูเข้าไปบอก ว่าถึงเวลาอีกนัดหนึ่งแล้ว เท่ากับแจ้งเป็นนัยๆต่อแขกว่าถึงเวลาต้องกลับเสียที
ปัญหาอันเนื่องมาจากแขกผู้มาเยือนจริงๆ แล้วโอกาสที่เกิดขึ้นคงไม่บ่อยนัก แต่ก็เป็นได้เมื่อแขกไม่ได้ดังความประสงค์อาจเกิดอารมณ์โกรธและเอะอะขึ้น ถ้าบริษัทจ้างยามหรือหน่วยรักษาความปลอดภัย ก็จงแจ้งขอความช่วยเหลือจากเขา หรือหากไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย คุณต้องร้องขอให้บุคคลที่ 3 มาร่วมในเหตุการณ์ เพื่อเป็นประจักษ์พยานป้องกันแขก มิให้นำเรื่องราวไปบิดเบือน จนกลายเป็นความเสื่อมเสียต่อทั้งคุณและบริษัท
3. การแนะนำตัว
การแนะนำตัวนั้น จะว่าง่ายก็ไม่เชิง จะว่ายากก็ไม่ใช่ กฏระเบียบทางสังคมเป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้ เพื่อจะได้ปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง หน้าไม่แตก สิ่งสำคัญขิงการแนะนำตัว คือ ชื่อ ตำแหน่ง ยศ หรือข้อมูลใดๆ ที่สำคัญ อันเป็นการอธิบายบุคคลผู้ถูกแนะนำให้เป็นที่รู้จักกันได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่างง่ายๆสำหรับการแนะนำตัว มีดังนี้
1. ควรแนะนำตนเองทันที เมื่อเห็นว่าผู้อื่นจำชื่อคุณไม่ได้
2. ใช้การแนะนำตัวว่า “สวัสดี” ในตอนพบปะและอำลา
3. เมื่อคุณต้องแนะนำผู้อื่นต่ออีกบุคคลหนึ่ง อย่าลืมว่าต้องเอ่ยถึงผู้ที่มียศศักดิ์ก่อน เช่น “ท่าน ผอ.ฉัตรชัย นี่คุณนวลเนียนพรีเซ็นเตอร์คนใหม่ของบริษัทครับ”
4. แนะนำบุคคลระดับบริหารของบริษัทคุณ ต่อคนระดับบริหารเช่นกันของบริษัทอื่น เช่น คุณหนึ่ง..นี่คุณสอง ผอ.ฝ่ายขายของบริษัท…. คุณสอง นี่คุณหนึ่ง ผอ.ฝ่ายตลาดของบริษัท…….ครับ”
5. แนะนำพนักงานอาวุโสน้อยต่อพนักงานที่มีอาวุโสมากกว่า
6. แนะนำพนักงานของบริษัทต่อลูกค้า เช่น คุณสาม….นี่คุณห้า ผอ.ฝ่ายขายของบริษัท…..คุณห้า..นี่คุณสาม จากบริษัท……….”
7. แนะนำฝ่ายชายต่อฝ่ายหญิง เมื่อทั้งสองฝ่ายอยู่ในสถานะเท่ากัน
การสนทนา การพูดกับผู้อื่นหรือการสนทนากันในสังคมมีความสำคัญมาก การสนทนาเป็นการพูดกับผู้อื่นแตกต่างไปจากการพูดคนเดียว คือ การสนทนาย่อมมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน มีการพูดจาระหว่างบุคคลซึ่งอาจมากกว่าสองคน ดังนั้น มารยาทในการสนทนาพึงปฏิบัติดังนี้
1. ควรใช้คำพูดที่สุภาพอ่อนน้อม
2. ในการพูดถึงบุคคลอื่นๆ ไม่ควรหยิบยกเอาความบกพร่องเสียหายของบุคคลนั้นๆขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยการดูถูกดูแคลน หรือเยาะเย้ยเสียดสีผู้นั้น
3. ไม่พูดไร้สาระ หรือพูดพล่อยจับใจความไม่ได้
4. ไม่พูดสอดแทรกขณะที่มีการสนทนาเป็นกลุ่มนั้น
5. ไม่พูดเสียงดังในสถานที่ต้องการความเงียบสงบ
6. ไม่กล่าวถึงสิ่งโสโครกพึงรังเกียจในท่ามกลางประชุมชน
7. ไม่พูดเปรียบเปรยเคาะแคะสตรีกลางประชุม
8. ไม่กล่าวถึงสิ่งควรปิดบังท่ามกลางประชุมชน
9. ไม่ขอแยกผู้หนึ่งมาจากผู้ใด  เพื่อจะพาไปพูดจาความลับกัน
10. ไม่กล่าวถึงความชั่วร้าย  อันเป็นความลับเฉพาะบุคคลในที่แจ้ง
11. ไม่เก็บเอาความลับของผู้หนึ่งมาเที่ยวพูดแก่ผู้อื่น
12. ไม่พูดสับปลับกลับกลอกตลบตะแลง
13. ไม่รับวาจาคล่องๆ โดยไม่ได้เห็นว่าการจะเป็นไปได้หรือไม่ ดังนั้นต้องใคร่ครวญให้แน่แก่ใจก่อนจึงรับคำหรือจึงปฏิญญา ไม่ใช่ทำแต่สักว่าพูดโพล่งโดยไม่ได้คำนึงให้แน่ชัดว่าจะทำได้หรือไม่
14. เมื่อตนทำพลาดพลั้งสิ่งใด  แก่บุคคลผู้ใด  ควรออกวาจาขอโทษเสมอ
15. เมื่อผู้ใดได้แสดงคุณต่อตนอย่างไร ควรออกวาจาขอบคุณเขาเสมอ
16. ไม่กล่าวสรรเสริญรูปกายบุคคลแก่ตัวเขาเอง
17. ไม่ทักถึงการร้ายโดยพลุ่งโพล่ง ให้เขาตกใจ
18. ไม่ทักถึงสิ่งอันน่าอายน่ากระดากโดยเปิดเผย
19. ไม่เอาสิ่งที่น่าจะอายจะกระดากมาเล่าให้แขกฟัง
20. ไม่กล่าวถึงการอัปมงคลในเวลามงคล
21. ไม่ใช้วาจาอันข่มขี่
22. ไม่สนทนาแต่เรื่องตนถ่ายเดียว จนคนอื่นไม่มีช่องจะสนทนาเรื่องอื่นได้
23. ไม่นำธุระตนเข้ากล่าวแทรกในเวลาธุระอื่นของเขาชุลมุน
24. ไม่กล่าววาจาติเตียนของที่เขาหยิบยกให้ว่าไม่ดีหรือไม่พอ
25. ไม่ใช้วาจาอันโอ้อวดตนและลบหลู่ผู้อื่น
26. ไม่เอาการในบ้านของผู้ใดมาแสดงในที่แจ้ง
27. ไม่ใช้คำสบถติดปาก
28. ไม่ใช้ถ้อยคำมุสา
29. ไม่นินทาว่าร้ายกันและกัน
30. ไม่พูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกร้าวกัน
31. ไม่เป็นผู้สอพลอประจบประแจง
32. ไม่แช่งชักให้ร้ายผู้ใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น